วันพุธที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2550

ทฤษฎีการเรียนรู้ของ ~Kohler


Wolfgang Kohler (1886 - 1941) นักจิตวิทยาชาวเยอรมันได้ทำการตรวจสอบการเรียนรู้การแก้ปัญหาของลิงซิมแปนซีโดยการนำลิงใส่ไว้ในกรงที่มีกล่องไม้ 2 กล่องวางอยู่บนพื้นกรงและมีกล้วยผูกด้วยเชือกแขวนอยู่ด้านบนของกรงในระยะที่ลิงไม่อาจเอื้อมถึงได้ เมื่อลิงเข้าไปอยู่ในกรงแล้วลิงพยายามทำอยู่หลายวิธีการ เช่น กระโดด ปีนกรง ยืนบนกล่องไม้กล่องเดียวแล้วเอื้อมมือเพื่อจะเอากล้วยมากินให้ได้แต่ก็ไม่สำเร็จและใน ที่สุดลิงก็หยุดมองกล่องไม้ 2 กล่อง มองกล้วยแล้วก็เอากล่อง 2 กล่องมาวางซ้อนกันแล้วปีนขึ้นไปบนกล่องไม้เอื้อมมือไปหยิบกล้วยมากินได้

ภาพที่ 46 การทดลองของ Kohler (ที่มา: Worchel and Shebilske,1989 ) จากการทดลองของโคเลอร์นี้เขาอธิบายว่า
1. การเรียนรู้โดยการแก้ปัญหาต่างๆ นั้นไม่ใช่เป็นไปอย่างไม่มีแบบแผนหรือเป็นการบังเอิญจากการลองผิดลองถูก แต่การแก้ปัญหาที่แท้จริงเกิดจากการใช้การหยั่งเห็นความสัมพันธ์กันของสิ่งต่างๆมากกว่า โดยในการทดลองนี้ลิงสามารถแก้ปัญหาได้ด้วยการมองเห็นความสัมพันธ์ของกล่องไม้ 2 กล่องและกล้วยจนสามารถนำกล่องมาต่อกันเพื่อเอากล้วยมากิน
2. การหยั่งเห็น (Insight) คือ การที่อินทรีย์มองเห็นความสัมพันธ์ของสิ่งต่างๆที่มีอยู่ และมองเห็นช่องทางในการแก้ปัญหาอย่างชัดเจนได้อย่างทันทีทันใดแล้วก่อนที่จะลงมือกระทำ ดังนั้นการนำกล่องมาซ้อนกันเพื่อปีนไปเอากล้วยของลิง จึงเป็นพฤติกรรมที่สามารถทำได้อย่างรวดเร็วหลังจากลิงนั่งคิดแก้ปัญหาได้แล้ว
3. จากการที่ลิงคิดแก้ปัญหาได้โดยการรับรู้สิ่งเร้าที่มีอยู่ทั้งหมด แล้วนำมาหาความสัมพันธ์กัน แสดงให้เห็นว่าการพิจารณาสิ่งเร้าเป็นส่วนรวมนั้นจะช่วยนำไปสู่การหยั่งเห็น การรับรู้สิ่งเร้าต่างๆของอินทรีย์ จึงเป็นไปในลักษณะส่วนรวมมากกว่าการรับรู้เป็นส่วนย่อย และจากการทำการทดลองลักษณะนี้ซ้ำอีกโดยลิงซิมแปนซีตัวอื่นๆ พบว่า บางตัวไม่สามารถแก้ปัญหาอย่างที่ลิงของโคเลอร์ทำได้ จึงอาจสรุปได้ว่า ปัจจัยที่ทำให้เกิดการ Insight นั้นมีมากกว่าสิ่งที่มองเห็น ปัจจัยที่ได้รับการกล่าวถึงกันมากคือ ประสบการณ์เดิมและความสามารถทางสมองของลิงแต่ละตัวที่มีแตกต่างกัน (Feldman ,1992:203) และจากการติดตามผลต่อเนื่องยังพบว่า ลิงสามารถนำวิธีการแก้ปัญหาที่ประสบความสำเร็จแล้วในครั้งนี้ไปดัดแปลงใช้ในการแก้ปัญหาในสถานการณ์ใหม่ที่คล้ายคลึงกันได้อีกด้วย

ไม่มีความคิดเห็น: